ประวัติความเป็นมากีฬากอล์ฟ
หนุ่มๆ ในยุคนั้นชอบใจกันใหญ่ เวลาได้หวดมันช่างสนุก ผ่อนคลาย ท้าทายความแม่นยำ ก็เริ่มไม่ค่อยสนใจการพัฒนาทักษะในด้านอื่นตามบรรทัดฐานของสังคมยุคนั้น กิจกรรมนี้ก็เลยโดนพระเจ้าเจมส์ที่ 2 (King James II) แห่งสกอตแลนด์ ทรงออกคำสั่งแบนกีฬาชนิดนี้ในปี 1457 เนื่องจากพระองค์เห็นว่ากิจกรรมนี้เบี่ยงเบนความสนใจจากเด็ก, เยาวชน และชายชาวสกอตติชออกจากกีฬาแห่งชายชาตรีในยุคนั้นอย่างการยิงธนู
แม้กอล์ฟจะโดนแบนโดยพระเจ้าเจมส์ที่ 2 แต่ดูเหมือนว่าหมู่ข้าราชการและขุนนางในสมัยนั้นยังคงติดลม ไม่มีทีท่าว่าจะยอมลดละเลิกการโชว์วงสวิง ความนิยมก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุดเมื่อปี 1502 พระเจ้าเจมส์ที่ 4 (James IV) แห่งสกอตแลนด์ ก็ทรงยกเลิกกฎห้ามเล่นกอล์ฟ ทั้งยังทรงสั่งให้ร้านทำธนูชื่อดังในเมืองเพิร์ธ (Perth) ผลิตไม้กอล์ฟและลูกกอล์ฟเพื่อพระองค์อีกด้วย โดยหลักฐานทางประวัติศาสตร์ระบุถึงคำสั่งจากขุนนางในวังเพื่อสนองพระราชประสงค์ของพระเจ้าเจมส์ที่ 4 ว่า “Golf Clubbes and Balles (for) The King (to) Play With.” จากนั้นกอล์ฟก็ได้รับความนิยมไปทั่วสหราชอาณาจักร
ส่วนสนามกอล์ฟที่ว่ากันว่าเก่าแก่ที่สุดในโลกอยู่ในมุสเซลบะระ (Musselburgh) ในอีสต์โลเธียน สกอตแลนด์ มี 22 หลุมให้เล่น ขณะที่สนามกอล์ฟยุคใหม่ (18 หลุม) แห่งแรกอยู่ใกล้กับวิทยาลัยเซนต์แอนดรูวส์ (St. Andrew’s College) ที่เป็นสนามกอล์ฟสำหรับนักบวชที่ได้รับการอนุญาตจากอาร์ชบิชอปแห่งเซนต์แอนดรูวส์ให้เล่นกอล์ฟได้ ซึ่งนักบวชในยุคนั้นมองว่ากอล์ฟมีส่วนช่วยพัฒนาจิตวิญญาณไม่มากก็น้อย
อย่างไรก็ตาม ความนิยมของกีฬากอล์ฟในทศวรรษที่ 15 ก็ถูกจำกัดด้วยอัตตาของผู้เล่นเอง มีข่าวลือในช่วงนั้นว่า ชื่อกีฬา ‘GOLF’ นั้น ย่อมาจาก ‘Gentleman Only, Ladies Forbidden’ แต่กระแสความนิยมของกอล์ฟในสุภาพสตรีนั้นกลับยิ่งใหญ่ขึ้นมาอีกครั้งในปี 1567 เมื่อสมเด็จพระราชินีนาถแมรีที่ 1 แห่งสกอตแลนด์ ทรงถูกบันทึกว่าเป็นสตรีคนแรกที่เล่นกีฬาชนิดนี้ ขณะที่ประชาชนชาวสกอตติชและอังกฤษก็ได้รับการอนุญาตให้เล่นกอล์ฟได้ในวันอาทิตย์